วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

"ล้าง เลือก เลี่ยง" บริโภคผักปลอดสารพิษเพื่อชีวิตปลอดภัย

"ผัก" คือหนึ่งในอาหารหลัก 5 หมู่ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ให้วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และรักษาสมดุลของร่างกาย มีใยอาหารที่ช่วยเรื่องระบบการย่อยและขับถ่าย โดยเฉพาะ "ผักสด" คนไทยนิยมบริโภคกันมาก แต่ถ้าผักสดนั้นๆ ปนเปื้อนสารเคมี จากที่มีประโยชน์ก็จะกลายเป็นมีโทษต่อร่างกายทันที
ดังนั้นวิถีการบริโภคผักปลอดสารพิษจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เช่นการรณรงค์ของแผนงานผักปลอดภัยจากสารพิษ จ.ขอนแก่น โดย ผศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย ผู้จัดการแผนฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายของแผนฯ ก็คือทำให้เกิดการบริโภคผักที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอย่างทั่วถึงในจังหวัด ขอนแก่น อาจเป็นการยากเกินไปที่จะให้เป็นผักปลอดสารพิษ จึงมุ่นเน้นไปที่ผักปลอดภัยจากสารพิษ หมายความว่าอาจจะมีสารเคมีบ้างแต่ต้องไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย และร่างกายขจัดออกไปได้ เป็นผักที่เหมาะสำหรับการรับประทานไม่ทำให้เกิดโรค

" เป้าหมายคือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรผู้ปลูกผักภายในจังหวัดขอนแก่นให้ใช้วิธีที่ ปลอดภัย พื้นที่ต้นแบบในการเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกร ก็คือที่บ้านหัวนา อ.พล จ.ขอนแก่น จัดแบ่งพื้นที่ให้ครอบครัวละ 10x10 เมตร พื้นที่เล็กใหญ่ไม่สำคัญ สำคัญคือต้องเข้าใจธรรมชาติ เช่น หน้าฝน ปลูกผัก ไม่ได้ก็อย่าฝืน ให้เปลี่ยนมาเลี้ยงลูกอ๊อดเลี้ยงปลาแทน หากเข้าใจธรรมชาติ รู้จักปลูกพืชตามฤดูกาล ช่วงไหนควรปลูกคะน้าก็ปลูก ช่วงไหนควรปลูกผักหว่านก็ปลูก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี พืชผักก็ไม่มีปัญหา พึ่งพาตนเองได้แบบพอเพียง แต่ปัญหาที่สำคัญมากๆ อยู่ที่ผู้ประกอบการ เพราะทุกวันนี้ เรามักฝากท้องไว้กับร้านอาหารนอกบ้าน ผู้ประกอบการจึงควรมีจิตสำนึกที่จะดูแลชีวิตของผู้บริโภค ด้วย 3 หลักการคือ ล้าง เลือก และเลี่ยง"

"ล้าง" หมายถึง ล้างผักให้สะอาดอย่างถูกวิธี อย่างที่ ตลาดสดบางลำภู จ.ขอนแก่น จะมีอ่างล้างผักขนาดใหญ่ไว้ในตลาดเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดมาใช้ล้างผัก เป็นการปลูกจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการเห็นใจผู้บริโภค ร่วมรับผิดชอบชีวิตของผู้อื่นด้วยการล้างผัก

"เลือก" หมายถึง อบรมสร้างทางเลือกให้ผู้ประกอบการ เลือกชนิดของผักให้เหมาะสมตามฤดูกาล เช่นฤดูฝน คะน้าที่เห็นในท้องตลาด ส่วนใหญ่จะถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมี ดังนั้นถ้าขายราดหน้าทำไมต้องใช้แตผักคะน้า หน้าฝนเปลี่ยนเป็นผักกวางตุ้ง หรือผักหวานแทนได้ไหม? นี่คือทางเลือกใหม่ๆ เพื่อผู้บริโภค

"เลี่ยง" หมายถึง การเลี่ยงบริโภคผักที่อยู่นอกฤดูกาล เช่น ฤดูฝน เป็นไปไม่ได้ที่ผักกะหล่ำจะออก ถ้ามีแสดงว่า ต้องใช้สารเคมีอย่างดุเดือด ฉะนั้นในฐานะผู้บริโภคและผู้ประกอบการก็ควรหลีกเลี่ยง

ผู้บริโภคเองก็ควรรู้วิธีการล้างผักเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น ลอกหรือปอกเปลือกแล้วแช่น้ำสะอาด 5-10 นาที แล้วจึงล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง, แช่น้ำปูนใส นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด, แช่น้ำด่างทับทิม (20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร) นาน 10 นาที แล้วล้างอีกครั้งหนึ่ง ด้วยน้ำสะอาด, ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อก นาน 2 นาที, แช่น้ำซาวข้าว นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง, แช่น้ำส้มสายชูหรือเกลือป่น (ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 4 ลิตร) แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง, แช่ น้ำยาล้างผัก นาน 10 นาที แล้วล้างน้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยผศ.ดร.สุพัตรา แนะนำว่าวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการล้างผักด้วยน้ำธรรมดา แต่ต้องเป็นน้ำสะอาดโดยล้างเปลี่ยนน้ำทิ้ง 3 ครั้ง สะดวกง่ายและได้ผลเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น