วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

เห็ด อาหารมหัศจรรย์

ปัจจุบันเห็ดที่เรานิยมรับประทานกันมีอยู่มากมายหลายชนิด มีทั้งแบบสด บรรจุกระป๋อง หรือแม้แต่เห็ดตากแห้ง ความนิยมในการรับประทานมีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยรูปแบบ และรสชาติเฉพาะตัวที่แตกต่างจากอาหารประเภทพืชผักด้วยกัน รวมทั้งการที่คนหันมานิยมรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติกันมากขึ้นก็ทำให้เห็ด ถูกนำมาใช้ปรุงอาหารแทนเนื้อสัตว์มากขึ้นตามไปด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าเห็ดมีคุณสมบัติป้องกันโรคได้

ในประเทศจีน และญี่ปุ่น นิยมนำเห็ดมาปรุงเป็นน้ำแกง น้ำชา ยาบำรุงร่างกาย และยารักษาโรคต่างๆ มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเห็ดมากว่า 30 ปียืนยันว่าในเห็ดมีสารบางอย่างที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และช่วยในการต้านมะเร็งหลายๆ ชนิดด้วย ในสหรัฐอเมริกาก็มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเห็ดเช่น กันได้ผลออกมายืนยันการค้นพบแบบเดียวกับชาวเอเชีย แต่สำหรับการวิจัยถึงผลการใช้เห็ดเป็นยารักษาโรคนั้นยังคงอยู่ในขั้นแรกๆ เท่านั้น ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการทดลองนำเห็ดหอมมาสกัด พบว่าในเห็ดหอม ให้น้ำตาลโมเลกุลขนาดใหญ่ (mega-sugar) ที่เรียกว่า เบต้ากลูแคนส์ (beta-glucans) ถึง 2 ชนิด ได้แก่ lentinan และ LEM (Lentinula edodes mycelium) ซึ่งช่วยทำหน้าที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับการติดเชื้อ และชะลอการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งในการทดลองให้สาร lentinan กับผู้ป่วยมะเร็งร่วมกับการทำเคมีบำบัดก็พบว่าก้อนมะเร็งมีขนาดลดลง และอาการข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดก็เกิดขึ้นน้อยลงด้วย

หลากหลายพันธุ์เห็ดรสอร่อย

- เห็ดหอม มีทั้งแบบเนื้อบางและหนา คนนิยมนำเห็ดหอมตากแห้งมาปรุงอาหารเพราะให้กลิ่นหอมมากกว่าแบบสด ซึ่งก่อนปรุงต้องลวกในน้ำเดือดประมาณครึ่งชั่วโมง หรือแช่น้ำอุ่นประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือข้ามคืน ช่วยให้เนื้อเห็ดนุ่มขึ้น น้ำแช่เห็ดหอมนี้ยังเก็บเอาไปทำเป็นน้ำสต๊อกปรุงรสอาหารได้ด้วย คนนิยมนำมาปรุงอาหารเจ เพราะเนื้อนุ่มเหนียวและกลิ่นหอมชวนกิน ชาวจีนยกให้เห็ดหอมเป็นอาหารตำรับ “อมตะ” เพราะคุณสมบัติความเป็นยาบำรุงกำลัง และบรรเทาอาการไข้หวัด การไหลเวียนเลือดไม่ดี ปวดกระเพาะอาหาร รวมทั้งอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย ซึ่งเห็ดหอมนี้จะให้โปรตีนได้มากกว่าเห็ดแชมปิญองถึง 2 เท่าเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังอุดมด้วยวิตามินเอ วิตามินบี ซีลีเนียม และธาตุอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ช่วยบำรุงกระดูกแข็งแรง ลดไขมันในเลือด และต้านโคเลสเตอรอล

- เห็ดหูหนูดำ นอกจากเห็ดหูหนูดำแล้วยังมีเห็ดหูหนูขาว เนื้อกรุบกรอบคล้ายๆ กัน แถมยังมีสีขาวน่ารับประทานมากกว่า ตามร้านเย็นตาโฟนิยมนำมาใช้แทนแมงกะพรุน หรือต้มเป็นสุกี้หรือทำยำรวมมิตรก็อร่อยไม่น้อย

- เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า และเห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดสามอย่างนี้อยู่ในตระกูลเดียวกัน เจริญเติบโตเป็นช่อๆ คล้ายพัด เห็ดนางรมมีสีขาวอมเทา เห็ดนางฟ้าจะมีสีขาวอมน้ำตาล ขณะที่เห็ดเป๋าฮื้อจะมีสีคล้ำและเนื้อเหนียวหนา และนุ่มอร่อยคล้ายเนื้อสัตว์มากกว่า จึงมักถูกจัดเป็นอาหารจานหรูเมนูจักรพรรดิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถป้องกันโรคหวัด ช่วยการไหลเวียนเลือด และโรคกระเพาะอาหาร เห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมผิวเรียบนุ่ม รสชาติก็นุ่ม นำมาปรุงได้หลายแบบทั้งผัด ชุบแป้งทอด หรือแม้แต่ย่างก็ให้รสชาติดี แต่ไม่ควรใช้ไฟแรงเพราะจะทำให้เนื้อสัมผัสหมดไป
- เห็ดฟาง เป็นเห็ดยอดนิยมของคนไทย นิยมเพาะกันบนกองฟางข้าวชื้นๆ โคนมีสีขาวส่วนหมวกสีน้ำตาลอมเทา หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดตลอดทั้งปี ให้วิตามินซีสูง และมีกรดอะมิโนสำคัญอยู่หลายชนิด เชื่อว่าหากรับประทานประจำจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันลดการติดเชื้อต่างๆ แต่ก็ไม่ควรรับประทานสดๆเพราะมีสารที่คอยยับยั้งการดูดซึมอาหาร ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน โรคเหงือกและลดอาการผื่นคันต่าง ๆ

- เห็ดหลินจือ นอกจากใช้รับประทานแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางอีกด้วย เพราะมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส แถมยังมีฤทธิ์แก้อักเสบ ลดความดันเลือด แก้ปวดศีรษะ รวมทั้งลดไขมันในเส้นเลือดด้วย

- เห็ดเข็มทอง เป็นเห็ดสีขาวหัวเล็กๆ ขึ้นติดกันเป็นแพ รสชาติเหนียวนุ่ม นำมารับประทานแบบสดๆ ใส่กับสลัดผักก็ได้ ถ้าชอบสุกก็นำไปย่าง ผัดหรือลวกแบบสุกี้

- เห็ดกระดุม หรือเห็ดแชมปิญอง รูปร่างกลมมน ผิวเนื้อนุ่มนวล มีให้เลือกทั้งแบบสด หรือบรรจุกระป๋อง

สารอาหารจากเห็ด
ซีลีเนียม เป็นสารอาหารที่ช่วยต้านการเกิดอนุมูลอิสระใกล้เคียงกับวิตามินอี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและโรคภัยต่างๆ ที่มากับวัยสูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ การรับประทานเห็ดหอม (ชิ้นขนาดกลางๆ 5 ชิ้น) จะให้ซีลีเนียมประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน นอกจากในเห็ดแล้ว ยังมีอยู่ในธัญพืช และเนื้อสัตว์ด้วย
โปแตสเซียม เป็นสารอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ความสมดุลของน้ำในร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อ และระบบประสาทต่างๆ ทาง FDA ของสหรัฐอเมริการะบุไว้ว่าการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของโปแตสเซียมจะ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความดันเลือดสูง และอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งในเห็ดนั้นมีโปแตสเซียมสูง และโซเดียมต่ำ การรับประทานอาหารที่ปรุงจากเห็ดกระดุมหรือเห็ดแชมปิญอง 1 จานจะให้โปแตสเซียมได้พอๆ กับส้มหรือมะเขือเทศลูกโตๆ เลยทีเดียว วิตามินบีรวม ในเห็ดขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบีรวม ไม่ว่าจะเป็น ไรโบฟลาวิน (ที่นอกจากจะได้จากเห็ดแล้ว ยังมีมากในเครื่องในสัตว์ นม ไข่ และเต้าหู้) ช่วยบำรุงสุขภาพผิวพรรณและการมองเห็น ขณะที่ไนอาซิน (ยังพบมากในปลาทูน่า เนื้อแดง ถั่วลิสง และอะโวคาโด) จะช่วยควบคุมการทำงานของระบบย่อยอาหาร และระบบประสาท สถาบันอาหารแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประมาณไว้ว่า การรับประทานเห็ดแชมปิญองขนาดกลางๆ 5 ชิ้น จะได้ปริมาณไรโบฟลาวินมากพอๆ กับการดื่มนมสดถึง 8 ออนซ์

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

อันตราย... ในไอศกรีม

7 สารสังเคราะห์ อันตราย... ในไอศกรีม!
ไอศกรีม อาหารว่างเย็นๆ ที่เป็นของโปรดของเด็กๆ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่หลายคน ต่างชื่นชอบในรสชาติของไอศกรีมกันทั้งนั้น แต่หารู้ไม่ว่า สารสังเคราะห์จากสารเคมีบางอย่าง ที่ใช้เป็นสารเติมแต่งรสชาติและแต่งแต้มสีสันในไอศกรีมบางยี่ห้อนั้น ได้นำพาสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของผู้บริโภคเสียแล้ว ที่ เลวร้ายกว่านั้น ผู้ผลิตไอศกรีมหัวใสบางราย ยังได้นำไขมันที่เหลือจากโรงฆ่าสัตว์มาใช้เป็นส่วนผสมในไอศกรีม ซึ่งไขมันจากสัตว์นั้นมีจำนวนของไขมันอิ่มตัวที่สูง เป็นไขมันชั้นเลวที่หากบริโภคไปมากๆ จะก่อให้เกิดโรคอ้วนและไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ สำหรับสารสังเคราะห์จากสารเคมีที่เป็นอันตราย และได้มีการนำมาผสมในไอศกรีมนั้น มีดังต่อไปนี้

1. ไดอิธิลกลูคอล( Diethyl Glucol) สารเคมีราคาถูกที่ใช้ในการตีไขมันให้กระจายแทนการใช้ไข่ สารชนิดนี้เป็นสารกันเยือกแข็งที่ใช้กันน้ำแข็งไม่ให้ละลายเร็ว และใช้ในน้ำยากัดสีด้วย

2. อัลดีไฮด์ – ซี71(Aldehyde-C71) เป็นสารที่ใช้ในการสร้างกลิ่นที่ไม่ค่อยมีในประเทศไทย เช่น เชอร์รี่ และเพื่อให้ไอศกรีมเป็นของเหลวติดไฟง่าย และยังนำไปใช้ทำสีอะนิลีน จำพวกพลาสติกและยาง

3. ไปเปอร์โอรัล( Piperoral) ใช้แทนกลิ่นวานิลลา เป็นสารเคมีเดียวกับที่ใช้ผสมในยาฆ่าเหาและหมัด

4. อิธิลอะซีเตท (Ethyl acetate) ใช้สร้างกลิ่นรสสับปะรด อีกทั้งยังใช้เป็นตัวทำความสะอาดหนังและผ้าทอ กลิ่นของสารเคมีตัวนี้ก่อให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง ตับ และหัวใจที่ผิดปกติ

5. บิวธีรัลดีไฮด์(Butyraldehyde) ใช้สร้างกลิ่นรสเมล็ดในผลไม้เปลือกแข็งเช่น ถั่วต่างๆ สารนี้เป็นสารที่ใช้เป็นสารประกอบสำคัญในกาวยาง
6. แอนนิล อะซีเตท(Anyle acetate) สารนี้จะให้กลิ่นกล้วยหอม และเป็นสารที่ใช้ทำลายล้างไขมัน

7. เบนซิล อะซีเตท(Benzyle acetate) เป็นสารที่ใช้สร้างกลิ่นและรสสตรอเบอร์รี่เป็นสารละลายไนเตรท ทำให้เกิดความอยากอาหาร

สารเคมีที่กล่าวมาทั้งหมด เช่น สารกันเยือกแข็ง ตัวทำละลายน้ำมัน น้ำยาลอกสี ยาฆ่าเหาและฆ่าหมัด นั้น ไม่ใช่ว่าในไอศกรีมทุกยี่ห้อจะมีสารเหล่านี้ทั้งหมด บางยี่ห้ออาจจะผสมสารตัวนี้หรือตัวอื่น นอกจากสารที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีการใช้สารให้ความหวาน คือ แซคคารินหรือน้ำตาลเทียม เติมเพื่อให้มีสีและกลิ่นที่หอมหวาน

ซึ่งสารแซคคารินนั้นได้มีการพิสูจน์แล้วว่า มีส่วนสนับสนุนทำให้เกิดมะเร็งได้เช่นกัน ไอศกรีมนั้นเป็นอาหารขยะชนิดหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายพอสมควร ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้ผลิตบางราย และความพอดีในการบริโภคของตัวผู้บริโภคเอง ที่ต้องดูแลเรื่องการบริโภค ให้ได้สัดส่วนที่พอดีกับความต้องการของร่างกายอาหารขยะ! ก็คือขยะที่ร่างกายเราไม่จำเป็นต้องกิน ก็สามารถอยู่ได้ไม่ใช่หรือ?

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

แผลในปาก...ไม่ยากแก่การรักษา

การได้ลิ้มรสชาติอาหารอร่อยๆ เต็มปากเต็มคำ นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ สุขภาพปากและฟันที่ดี ไม่เพียงแต่จะสร้างความสุขทางใจจากการได้รับประทานอาหารอร่อยได้ทุกประเภท แต่ยังเป็นหนทางสำคัญต่อการสร้างสุขภาพทางกายให้สมบูรณ์แข็งแรงได้อีกด้วย

ดังนั้น การปล่อยปะละเลยสุขภาพในช่องปาก จนทำให้เกิดเป็น “ แผลในปาก ” นอกจากจะทำให้เกิดอาการเจ็บแล้ว ยังรบกวนความสามารถในการรับประทานอาหาร การกลืน หรือแม้กระทั่งการพูดไปอย่างน่าเสียดาย...

แผลในความหมายทางการแพทย์คือ มีการหลุดลอกไปของเนื้อเยื่อผิวหนังชั้นบน ที่มีปลายประสาทและหลอดเลือดขนาดเล็กอยู่ ทำให้เกิดความเจ็บปวดและมีเลือดออก สำหรับแผลในช่องปากนั้น ส่วนใหญ่เรามักจะจำกันไม่ได้ว่าเกิดแผลในปากขึ้นได้อย่างไร แต่ถ้าเราทราบสาเหตุ ก็จะสามารถรักษาและป้องกันการเกิดเป็นซ้ำได้ แผลในปากมีหลายลักษณะ ขึ้นกับอาการและสาเหตุ อาทิ

แผลที่เป็นแล้วหายได้เอง ภายใน 1-2 สัปดาห์ และมักกลับเป็นซ้ำอีก คือ แผลร้อนในขนาดเล็ก (Minor Aphthous ulcer) ซึ่งเป็นกันมาก ทั้งหญิงชาย เด็กและผู้ใหญ่ เป็นแผลที่ไม่มีความอันตรายในระยะยาว แผลมักเกิดตามข้างกระพุ้งแก้ม ใต้ลิ้น ริมฝีปากด้านใน การทายาจำพวกสเตียรอยด์เฉพาะที่วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนแผลบริเวณนั้น เช่น สลับไปเคี้ยวอาหารอีกข้างหนึ่งจะทำให้ลดโอกาสการเกิดเป็นแผลเรื้อรังขนาด ใหญ่ขึ้นได้

การเป็นแผลร้อนในซ้ำบ่อย ๆ อาจเกิดจากการขาดสารอาหารจำพวกวิตามินบีและกรดโฟลิก การรับประทานวิตามินเสริมเหล่านี้จะช่วยลดการเกิดแผลได้


อาจเกิดจากการแพ้ยาหรือสารบางอย่าง หรือการติดเชื้อโรค เช่น ไวรัส เชื้อรา แบคทีเรีย หรืออาจเป็นอาการแสดงของโรคระบบผิวหนัง โรคระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด รวมถึงการเป็นโรคมะเร็งในช่องปากด้วย

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หากเป็นแผลในปากแล้ว ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เจ็บหรือไม่ แต่เป็น นานเกิน 2 สัปดาห์ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปรับการตรวจแผลกับทันตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยแผลที่ถูกต้อง นอกจากจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมแล้ว ท่านจะได้เรียนรู้วิธีป้องกันการเกิดแผลในภายหน้า เพื่อป้องกันการลุกลามของโรคทางระบบ รวมทั้งโรคมะเร็งในช่องปากได้อย่างทันท่วงที

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

ออกกำลังกายตอนเช้า ดีอย่างไร

คนส่วนใหญ่มักออกกำลังกายในช่วงเย็นหลังเลิกงาน แต่รู้หรือไม่ว่าการออกกำลังกายตอนเช้าดีกว่าเป็นไหนๆ .... อย่าเพิ่งทำคิ้วขมวดชนกัน ลองฟังทางนี้ก่อนแล้วคุณจะรู้!
การออกกำลังกายในตอนเช้าเป็นการช่วยให้กระบวนการเผลาผลาญในร่างกายทำงานได้ดีขึ้นเป็นเวลาหลายชั่วโมงบางครั้งอาจยาวนานถึง 24 ชั่วโมงเลยก็ว่าได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการเผลาผลาญปริมาณแคลอรี่ที่มากขึ้นกว่าเดิมตลอดทั้งวัน ซึ่งโดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่พบว่าการออกกำลังกายตอนเช้านั้นทำให้ร่างกายมีการควบคุมการผลิตน้ำย่อยส่งผลให้สามารถควบคุมความหิวได้ การออกกำลังกายตอนเช้าจึงทำให้รู้สึกว่ามีพลังในการทำงานหรือทำสิ่งต่างๆ ได้ดีตลอดทั้งวัน ซึ่ง 90% ของผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คือผู้ที่ออกกำลังกายตอนเช้าจนติดเป็นนิสัย

เพราะนอกจากการออกกำลังกายตอนเช้าทุกวันจะทำให้คุณเป็นคนตื่นเช้าเป็นประจำแล้ว ยังส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ร่างกายเองก็จะเกิดการปรับตัวให้คุณตื่นเช้าได้ง่ายขึ้น แตกต่างจากการตื่นนอนแบบไม่เป็นเวลา นอกจากนี้ยังส่งผลให้ระบบการเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้นในช่วงเวลาของการนอนหลับ อีกด้วย

ที่สำคัญการออกกำลังกายตอนเช้าจะทำให้คุณมีเวลาอยู่กับตัวเองและได้ดูแลตัว เองอย่างเต็มที่อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ทำให้คุณได้คิดทบทวนเรื่องราว ต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตคุณ เพื่อวางแผนการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้มากยิ่งขึ้นด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นแล้วว่าช่วงเวลา 4-10 ชั่วโมงหลังการออกกำลังกาย จะทำให้สมองแล่น ทำงานได้ประสบความสำเร็จ ทำให้ความเป็นไปได้ในการออกกำลังกายตอนเช้านั้นมีสูง ส่งผลให้ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีคุณภาพในการนอนหลับที่ดีขึ้น

รู้อย่างนี้แล้วหากมีเวลาเพื่ออกกำลังกายตอนเช้า ก็ลองทำดู ปรับเปลี่ยนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากัน!

วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

ว่ายน้ำ...กับปัญหาผิวหนัง

ผู้ปกครองบางคนคิดว่าเป็นเกลื้อน ผิวไหม้แดด การถูกแดดจัดทำให้ผิวหนังเหี่ยวแก่ และเกิดริ้วรอยของกระและฝ้าได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือการถูกแดดจัดนานๆ ทำให้ผิวเกิดรอยโรคขรุขระ ที่เรียกว่าแอ็กทินิก เคอราโทซิส (actinic keratosis) หากทิ้งไว้นานๆ จะกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง ลักษณะแบบนี้บางทีเรียกว่า ผิวนักกอล์ฟ (golfer's skin) ผิวกะลาสี (sailor's skin) หรือผิวชาวไร่ชาวนา (farmer's skin) เพราะอาชีพพวกนี้ ล้วนต้องอยู่กลางแจ้งนานๆ จนผิวได้รับผลเสียจากแสงแดด

ผิวติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อ Mycobacterium marinum โรคนี้ติดต่อกันโดยการใช้สระน้ำร่วมกัน จึงเรียกอีกชื่อว่า swimming - pool granuloma เกิดเป็นตุ่มหนองตามข้อศอก ข้อเข่า เท้า นิ้วมือ หรือข้อนิ้วมือ

หูดข้าวสุก พบได้บ่อยในวัยเด็กและอาจมีการระบาดในเด็กที่ไปว่ายน้ำ เชื่อว่าเชื้อหูดข้าวสุกน่าจะถ่ายทอดจากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เครื่องเล่นในสระน้ำ มากกว่าที่จะถ่ายทอดทางน้ำในสระ ผู้ที่เป็นหูดข้าวสุกต้องปิดปลาสเตอร์กันน้ำที่เม็ดหูด และเมื่อขึ้นจากน้ำให้แกะออกและทิ้งปลาสเตอร์ที่บ้าน

นักว่ายน้ำบางคนยังพบ ผมเปลี่ยนสี เป็น ผลจากสารจุนสีที่ใส่ในสระว่ายน้ำ ยิ่งพวกที่ผมสีอ่อน ผมจะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวได้ จึงจำเป็นต้องสวมหมวกว่ายน้ำ สระผม และใช้ครีมนวดผมหลังว่ายน้ำ

หูชั้นนอกอักเสบ พบบ่อยในนักว่ายน้ำ จึงมีอีกชื่อว่าโรคหูนักว่ายน้ำ (swimmer's ear) ทั้งนี้เกิดเพราะการเสียสมดุล เนื่องจากระหว่างว่ายน้ำ น้ำเข้าหู ไปชำระล้างขี้หูซึ่งเป็นกำแพงกันเชื้อโรคตามธรรมชาติ หลังขึ้นจากน้ำบางคนยังใช้ไม้พันสำลีแยงหู หูเลยอักเสบ ควรหายางอุดหูมาใช้เวลาว่ายน้ำ หรือหากมีน้ำค้างอยู่ในหู ให้พยายามเขย่าน้ำออก อาจกระทำโดยการกระโดดขึ้นกระโดดลง เอียงศีรษะให้หูด้านที่มีน้ำขังอยู่ด้านล่าง

นอกจากนั้นก็ยังอาจ ใช้นิ้วมือกดรูหูเพื่อทำให้เกิดแรงดูด อาจทำให้น้ำไหลออกมาได้ แต่ถ้าทำแล้วหูยังอื้ออยู่ก็ต้องพบแพทย์เฉพาะทางหูคอจมูก

การดูแลผิวของนักว่ายน้ำ
ไม่ว่าจะว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ แม่น้ำ ทะเล หรือในห้วยหนองคลองบึงที่ใดก็ตาม น้ำแต่ละชนิดนั้นมีผลเสียต่อสุขภาพผิวได้ เพราะในน้ำมีเชื้อโรคขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สาหร่าย พยาธิ ที่พบบ่อยในบ้านเรา เช่น พยาธิหอยคัน พืช ปะการัง หินแหลมคม และสารเคมี จากการกำจัดน้ำโสโครก ดังนั้นหากผิวหนังกำลังมีบาดแผล อยู่ก็ต้องงดเล่นน้ำจะปลอดภัยกว่า

น้ำในสระว่ายน้ำ บางแห่งมีคลอรีนผสมอยู่สูงมาก หากว่ายน้ำแล้วอาจเกิดตาแดงแสบและเคืองตามาก หรืออีกทีถ้าไปว่ายน้ำในคลองที่สกปรก ตาก็อาจเกิดการอักเสบติดเชื้อได้เช่นกัน จึงควรสวมแว่นตากันน้ำเข้าตาก่อนไปว่ายน้ำ

หลังว่ายน้ำควรอาบน้ำ ชำระล้างร่างกายให้สะอาด หากเป็นคนผิวแห้งก็ควรใช้ครีมหรือน้ำมันทาผิวชโลมลูบไล้ตามผิวหนังเพื่อ ป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง สระผมให้สะอาดด้วยแชมพูแล้วตามด้วยครีมนวดผม เพื่อรักษาสภาพเส้นผมไม่ให้แห้งกรอบ

เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ที่แห้งสนิท อย่าทนฝืนสวมชุดว่ายน้ำที่ชื้นแฉะอยู่นานๆ หากผิวหนังมีบาดแผล ก็ต้องทำความสะอาดบาดแผลให้เรียบร้อย และต้องไม่ว่ายน้ำกลางแดดจัด

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

“แตงโม” ผลไม้ไทย ปลอดภัย มีประโยชน์


ที่ผ่านมา ประชาชนมีความสงสัยและมีคำร่ำลือว่า “แตงโม” เป็นผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชสูง และอาจมีการฉีดสี หรือสารให้ความหวานหรือน้ำตาลทราย เพื่อให้สีสดสวยและมีรสหวาน ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยไม่กล้าที่จะซื้อแตงโมมารับประทาน

แต่ขณะนี้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัยได้แล้ว เมื่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เก็บตัวอย่างแตงโมมาตรวจวิเคราะห์ และสรุปได้ว่า แตงโมเป็นผลไม้ที่ปลอดภัย แถมยังมีประโยชน์อีกด้วย
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างแตงโมจากแหล่งขายส่งในกรุงเทพฯ รวม 20 ตัวอย่าง โดยมีแหล่งปลูกในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร นครราชสีมา นครสวรรค์ ยโสธร สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองคาย และอยุธยา มาตรวจวิเคราะห์

ทั้งนี้ผลปรากฏว่า ไม่พบวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลทราย (ซูโคส) เพื่อเพิ่มความหวาน และไม่มีการใช้สีสังเคราะห์เพื่อให้สีสดสวย แต่เมื่อวิเคราะห์ทั้งเปลือก ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช จำนวน 14 ตัวอย่าง โดยตรวจพบ methomyl 3 ตัวอย่าง ปริมาณต่ำกว่ามาตรฐาน และพบสารที่ไม่มีมาตรฐานกำหนด 3 ชนิด ได้แก่ cypemethrin 13 ตัวอย่าง chlorpyrifos 2 ตัวอย่าง และ bifenthrin 1 ตัวอย่าง ปริมาณที่ตรวจพบเมื่อคำนวณปริมาณที่ได้รับต่อคนต่อวัน พบว่า จะได้รับสารทุกชนิดต่ำกว่าค่าปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดมากกว่า 100 เท่า

นพ.มานิต เพิ่มเติมว่า แตงโมเป็นผลไม้ไทยที่มีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ ดื่มน้ำแตงโมบรรเทาอาการไข้ คอแห้ง หากเป็นแผลในปากให้ใช้น้ำแตงโมอมบ่อยๆ หรือเอาเปลือกแตงโมผิงไฟหรือตากให้แห้งบดเป็นผงแล้วทาบริเวณแผล เป็นต้น

นอกจากนี้ ด้วยความที่แตงโมเป็นผลไม้ที่มีเนื้อสีแดง หรือสีเหลือง รสหวาน ฉ่ำน้ำ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นของผลไม้โดยแท้ เนื่องจากเกษตรกรได้ใช้เทคนิคการเพาะปลูก เช่น ลดการให้น้ำและให้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ก่อนการเก็บเกี่ยว ทำให้แตงโมไทยมีรสหวาน และสีสดสวย

อย่างไรก็ตาม การที่ตรวจพบการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชนั้น เนื่องจากเป็นการตรวจวิเคราะห์ทั้งเปลือก ดังนั้น ประชาชนหรือพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อแตงโมทั้งผลก่อนผ่าควรล้างเปลือกให้สะอาด ก่อน จะทำให้ปลอดภัยจากการได้รับสารพิษตกค้าง

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553

อร่อย อันตราย ภัยของกินปิ้งย่าง

หลายคนเคยได้ยินมาบ้างว่าของปิ้งๆ ย่างๆ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่จะเป็นอันตรายแบบไหน และพอจะหลบเลี่ยงพิษภัย (แต่ยังลิ้มรสอร่อย) ได้อย่างไร หรือไม่ รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ และ มลฤดี สุขประสารทรัพย์ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาเรื่องภัยของอาหารอร่อยแต่อันตรายเหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจ

อันว่าด้วยด้านตรงข้ามของความอร่อยจากอาหารปิ้ง-ย่าง-รมควันนั้น ก็คือสารพิษที่ชื่อ พีเอเอช (polycyclic aromatic hydrocarbon) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ควันธูป ควันบุหรี่ ควันโรงงาน และควันอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ สารกลุ่มนี้ถูกพิสูจน์ชัดว่าก่อให้เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง และบางชนิดกล่าวได้ว่าก่อให้เกิดมะเร็งได้ในคน

สารนี้เกิดจากไขมันในเนื้อสัตว์ที่หยดติ๋งๆ ลงบนถ่ายขณะที่ให้ความร้อนต่ำ และเมื่ออากาศมีจำกัดทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จึงเกิดควันที่มีสารพีเอเอชลอยฉุยๆ ขึ้นมาเกาะที่ผิวอาหาร โดยสารนี้จะมีมากในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่างนั้น

นักวิทยาศาสตร์ด้านพิษวิทยาทางอาหาร ได้ทำการศึกษาวิธีการปิ้งย่างอาหารที่สามารถลดการเกิดสารพีเอเอช ดังนี้
1.ก่อนปิ้ง/ย่างเนื้อสัตว์ที่ติดมันควรตัดส่วนที่เป็นมันออกไปก่อน เพื่อลดไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่าน

2.ถ้าเป็นไปได้ควรนำเนื้อสัตว์ที่จะย่างไปอบ ต้มหรือเข้าไมโครเวฟเสียก่อนเพื่อลดการเกิดสารพีเอเอช

3.หันไปใช้เตาไฟฟ้า (ไร้ควัน) ซึ่งสามารถควบคุมระดับความร้อนได้มากกว่าการใช้เตาถ่าน

4.ถ้าต้องปิ้งย่างบนเตาถ่านธรรมดาๆ ควรใช้ถ่านที่อัดเป็นก้อน ไม่ควรใช้ถ่านป่นละเอียด หรืออาจจะใช้ฟืนที่เป็นไม้เนื้อแข็ง เพราะการเผาไหม้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ

5.การใช้ใบตองห่ออาหารก่อนจะทำการปิ้งย่าง เป็นการลดปริมาณไขมันจากอาหารที่หยดลงไปบนถ่าน และทำให้อาหารมีกลิ่นหอมใบตองดีด้วย

6.สำคัญสุดๆ ก็คือ หลังปิ้งย่างเสร็จแล้ว ควรหั่นส่วนที่ไหม้เกรียมออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อย่างไรก็ดี ถึงจะหั่นส่วนไหม้เกรียมทิ้งไปเพื่อขจัดสารพีเอเอชออกไปแล้ว แต่เจ้ากรรมที่ยังมีสารพิษอีกกลุ่มที่ชื่อ เอชซีเอ หรือ เฮเทอโรไซคลิกเอมีน (hetero cyclic amine) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากสารที่มีอยู่ในเนื้อสัตว์ทำปฏิกริยากันเอง โดยอาศัยความร้อนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เริ่มจากน้ำตาลและกรดอะมิโนทำปฏิกิริยากัน ซึ่งจะทำให้ได้สารเคมีประเภทหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผลิตภัณฑ์เมลลาร์ด (Maillard reaction product) ซึ่งทำให้เนื้ออาหารมีสีสันและกลิ่นหอม จากนั้นสารกลุ่มนี้จึงไปทำปฏิกิริยากับ ครีเอทีน (creatine) ซึ่งเป็นสารชีวเคมีที่มีในเนื้อสัตว์ จนเกิดเป็นสารพิษก่อให้เกิดมะเร็งชนิดเอชซีเอ

วิธีที่พอจะหลีกเลี่ยงการเกิดสารพิษชนิดนี้ อาจทำได้โดยนำเนื้อสัตว์ที่แช่แข็งเข้าไมโครเวฟก่อนปรุง เพื่อให้เกิดการละลายและน้ำเลือดไหลออกจากเนื้อสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของครีเอทีนที่มีส่วนสำคัญในการเกิดเอชซีเอ หรืออีกวิธีคือการเติมสารที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระลงไป เช่นผงใบหม่อน ที่สามารถผสมกับผงหมักเนื้อก่อนนำไปปรุง นอกจากนี้การต้มตุ๋นในระบบเปิดก่อให้เกิดสารเอชซีเอน้อยกว่าระบบปิดด้วย เพราะสารเอชซีเอจะระเหยไปพร้อมกับไอน้ำ

อีกวิธีที่จะช่วยลดการก่อฤทธิ์ของสารก่อมะเร็งกลุ่มนี้อาจทำได้ โดยการกินเคียงไปกับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี และผักใบเขียวอื่นๆ เนื่องจากสารพิษเหล่านี้จะมีการดูดซึมในร่างกาย โดยบางส่วนจะสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน อีกส่วนถ้ามีปริมาณไม่มากเกินไปก็จะถูกลำเลียงไปขจัดทิ้งที่ตับ การกินผักเหล่านี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับระบบทำลายสารพิษของร่างกาย

เตือนภัยจาก"ยาทาเล็บ"

สัญญาณเบื้องต้นที่บ่งบอกความเป็นอันตรายของยาทาเล็บคือกลิ่นเหม็นรุนแรงที่โชยออกมาเมื่อเปิดฝา อันเกิดจากการผสมกันของแอลกอฮอล์ โซลเวนต์หรือสารอินทรีย์ระเหยที่ใช้เป็นตัวทำละลายซึ่งช่วยให้ยาทาเล็บแห้งเร็ว และเรซิ่นที่ทำให้สีของยาทาเล็บติดทนทาน ไม่ลอกล่อนโดยง่าย

มีสารพิษ 3 ชนิดปะปนอยู่ในยาทาเล็บทั่วไป คือ ไดบิวทิล พทาเลต สารประกอบไทลูอิน และฟอร์มาลดีไฮด์

* ไดบิวทิล พทาเลต เป็นปัจจัยเพิ่มอัตราการเป็นหมันในหญิงและชาย ในระยะยาวจะส่งผลต่อไตและตับ

* ไทลูอิน ไม่เพียงรบกวนการเจริญเติบโตและระบบสืบพันธุ์ แต่ยังสร้างความระคายเคืองผิวหนังและส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เหนื่อย สับสน และสูญเสียความทรงจำ หากสูดดมมากๆ จะมีอาการหน้ามืด ตาลาย ปวดศีรษะ

* ฟอร์มาลดีไฮด์ หากสัมผัสกับผิวหนังจะปรากฏเป็นผื่นแพ้และคัน หากสูดดมเข้าไปในระยะสั้นจะสร้างความระคายเคืองในลำคอและไอ ในระยะยาวทำให้เป็นมะเร็งในระบบทางเดินหายใจ

ในยาทาเล็บส่วนใหญ่เป็นสีสังเคราะห์ ส่วนยาทาเล็บที่ผลิตด้วยสีธรรมชาติก็จำเป็นต้องเติมแร่ไมกาเพื่อเพิ่มประกายแวววาว สิ่งที่คุณอาจไม่รู้ก็คือ การทำเหมืองไมกามีการใช้แรงงานเด็กและผู้หญิง

นอกจากยาทาเล็บแล้ว น้ำยาล้างเล็บก็อันตรายไม่เบา ยิ่งทาเล็บติดทนนานเพียงใด ยิ่งต้องใช้น้ำยาที่ผสมด้วยตัวทำละลายเข้มข้นสูง จึงมีฤทธิ์มากพอจะล้างสีออกจากเล็บได้ง่ายดาย

น้ำยาล้างเล็บส่วนใหญ่มีส่วนผสมสารเคมี 2 ชนิด คือ อะซิโตน และเอทิลอะซิเตต ซึ่งต่างก็สร้างความระคายเคืองแก่ดวงตาและระบบทางเดินหายใจ ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้ผิวหนังแห้งและลดทอนความแข็งแรงของเล็บอีกด้วย