วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

แผลในปาก...ไม่ยากแก่การรักษา

การได้ลิ้มรสชาติอาหารอร่อยๆ เต็มปากเต็มคำ นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ สุขภาพปากและฟันที่ดี ไม่เพียงแต่จะสร้างความสุขทางใจจากการได้รับประทานอาหารอร่อยได้ทุกประเภท แต่ยังเป็นหนทางสำคัญต่อการสร้างสุขภาพทางกายให้สมบูรณ์แข็งแรงได้อีกด้วย

ดังนั้น การปล่อยปะละเลยสุขภาพในช่องปาก จนทำให้เกิดเป็น “ แผลในปาก ” นอกจากจะทำให้เกิดอาการเจ็บแล้ว ยังรบกวนความสามารถในการรับประทานอาหาร การกลืน หรือแม้กระทั่งการพูดไปอย่างน่าเสียดาย...

แผลในความหมายทางการแพทย์คือ มีการหลุดลอกไปของเนื้อเยื่อผิวหนังชั้นบน ที่มีปลายประสาทและหลอดเลือดขนาดเล็กอยู่ ทำให้เกิดความเจ็บปวดและมีเลือดออก สำหรับแผลในช่องปากนั้น ส่วนใหญ่เรามักจะจำกันไม่ได้ว่าเกิดแผลในปากขึ้นได้อย่างไร แต่ถ้าเราทราบสาเหตุ ก็จะสามารถรักษาและป้องกันการเกิดเป็นซ้ำได้ แผลในปากมีหลายลักษณะ ขึ้นกับอาการและสาเหตุ อาทิ

แผลที่เป็นแล้วหายได้เอง ภายใน 1-2 สัปดาห์ และมักกลับเป็นซ้ำอีก คือ แผลร้อนในขนาดเล็ก (Minor Aphthous ulcer) ซึ่งเป็นกันมาก ทั้งหญิงชาย เด็กและผู้ใหญ่ เป็นแผลที่ไม่มีความอันตรายในระยะยาว แผลมักเกิดตามข้างกระพุ้งแก้ม ใต้ลิ้น ริมฝีปากด้านใน การทายาจำพวกสเตียรอยด์เฉพาะที่วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนแผลบริเวณนั้น เช่น สลับไปเคี้ยวอาหารอีกข้างหนึ่งจะทำให้ลดโอกาสการเกิดเป็นแผลเรื้อรังขนาด ใหญ่ขึ้นได้

การเป็นแผลร้อนในซ้ำบ่อย ๆ อาจเกิดจากการขาดสารอาหารจำพวกวิตามินบีและกรดโฟลิก การรับประทานวิตามินเสริมเหล่านี้จะช่วยลดการเกิดแผลได้


อาจเกิดจากการแพ้ยาหรือสารบางอย่าง หรือการติดเชื้อโรค เช่น ไวรัส เชื้อรา แบคทีเรีย หรืออาจเป็นอาการแสดงของโรคระบบผิวหนัง โรคระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด รวมถึงการเป็นโรคมะเร็งในช่องปากด้วย

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หากเป็นแผลในปากแล้ว ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เจ็บหรือไม่ แต่เป็น นานเกิน 2 สัปดาห์ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปรับการตรวจแผลกับทันตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยแผลที่ถูกต้อง นอกจากจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมแล้ว ท่านจะได้เรียนรู้วิธีป้องกันการเกิดแผลในภายหน้า เพื่อป้องกันการลุกลามของโรคทางระบบ รวมทั้งโรคมะเร็งในช่องปากได้อย่างทันท่วงที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น