วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

"น้ำพริก" รสเด็ด...มากคุณประโยชน์ป้องกันโรคภัย

พูดถึงน้ำพริก หลายคนน้ำลายสออยากลิ้มรส เพราะน้ำพริกเป็นอาหารที่คนไทยรู้จักกันดี มีเครื่องปรุงจากสมุนไพร อันได้แก่ พริก กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศ นำมาโขลกรวมกันส่งกลิ่นหอมฉุย ใช้เป็นน้ำจิ้มในการจิ้มผัก ปลา กุ้ง ซึ่งนอกจาก น้ำพริกจะมีรสชาติที่อร่อยเด็ดเผ็ดร้อนแล้ว คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าน้ำพริก 1 ถ้วยมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการและสามารถป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ได้มากมาย

เรามาเริ่มกันที่ส่วนประกอบหลัก ๆ ที่สำคัญในการทำน้ำพริกก่อนนั่นคือ พริก โดยพริกที่คนไทยนิยมนำมาปรุง คือ พริกชี้ฟ้าแดงและเขียว, พริกแห้ง, พริกแห้งป่น, พริกขี้หนูและพริกขี้หนูสวน มีรสชาติเผ็ดร้อนและมีสาร “แคปไซซิน” ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันความชรา และมีเบต้าแคโรทีนที่ให้วิตามินซีสูง ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้เจริญอาหาร ขับลม แก้หวัด แก้ภูมิแพ้

กะปิ เป็นอีกส่วนประกอบที่ทำให้น้ำพริกอร่อย มีวิตามินบี 12 ช่วยสร้างเม็ดเลือดและมีแคลเซียมสูงกว่านมวัวถึง 15 เท่า กุ้งแห้ง มีแคลเซียมสูงเช่นกัน มีส่วนช่วยในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง กระเทียม มีสาร “อัลลิซิน” ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยไม่ให้เลือดจับตัวเป็นลิ่มหรืออุดตันตามผนังหลอดเลือด ลดการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด หอมแดง มีสาร “เคอร์ ซิทิน” ช่วย ทำความสะอาดเส้นเลือดป้องกันไม่ให้หลอดเลือดอุดตัน มะนาว มีวิตามินซีสูง ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ เลือดออกตามไรฟัน แก้อาการปวดศีรษะ บำรุงตาและผิวได้ดี
นอกจากนี้น้ำพริกยังมีส่วนประกอบที่หลากหลายออกไปตามวัตถุดิบนั้น ๆ เช่น น้ำพริกเห็ดออรินจิ ซึ่งเห็ดมีประโยชน์ต่อร่างกายมากโดยมีสารอาหารประเภทวิตามินเอ, บี2, โปรตีน ฯลฯ ช่วยป้องกันโรคกระดูกอ่อน ใช้บำรุงโลหิต บรรเทาอาการหวัด ปวดศีรษะและลดไขมันในเส้นเลือดได้ดี น้ำพริกปลาดุกฟูแมงดา โดยแมงดาที่นำมาปรุงน้ำพริกจะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ประกอบด้วยสารอาหาร เช่น กรดอะมิโนโปรตีน, วิตามิน, ฟอสฟอรัส, เหล็ก, แคลเซียม และให้พลังงานสูง น้ำพริกเต้าหู้กรอบ อุดมไปด้วยแคลเซียม สังกะสี ธาตุเหล็กและวิตามิน ซึ่งมีส่วนช่วยลดระดับ ไขมันและคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคกระดูกพรุนและมะเร็งเต้านม อีกทั้ง ยังช่วยให้ไตทำงานได้ดีอีกด้วย น้ำพริกตะไคร้ ตะไคร้ มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ ลดกรดยูริก ทำให้เจริญอาหารและช่วยขับเหงื่อ ลดความดันโลหิต น้ำพริกไตปลา มีโปรตีนและเกลือแร่สูง

ทั้งนี้ยังมีสมุนไพรมากมายที่นิยมนำมาเป็นเครื่องเคียงทานกับน้ำพริก เช่น สายบัว, บัวบก, ผักกระเฉด, ผักกูด, ผักหนาม, แตงกวา, มะเขือ, ถั่วพู, ชะอม, ขิง, กะหล่ำปลี, ผักกาดขาว ที่มีประโยชน์ช่วยในการป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเพิ่มภูมิคุ้มกันและต่อต้านอนุมูลอิสระ

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

เชื่อหรือไม่...”เลี้ยงหมูหลุม” หมดปัญหากลิ่นขี้หมู

“กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าชุมชน โรงเรียนเขาชะโงก” สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีจากการเลี้ยง “หมูหลุม” ที่ดูแลความสะอาดของคอกหมูและกลิ่นขี้หมู ด้วยการใช้น้ำหมักชีวภาพกำจัดขี้หมู จนกลายเป็นการเลี้ยงหมูที่ไม่เหม็นขี้หมูเหมือนอย่างเคย นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนฯ ยังได้มีการทดลองประเภทของอาหารหมู ที่ทำให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีและสามารถลดต้นทุนลงได้

“คิดว่าจะทำให้รู้ว่าเลี้ยงแบบไหนจะดีกว่าเดิม ประหยัดมากกว่าไหม ถ้าดีจะได้ให้ที่บ้านทำดูด้วยค่ะ” เด็กน้อยตอบเจื้อยแจ้ว ด้วยเสียงสดใส นี่เป็นเพียงหนึ่งกิจกรรมที่เมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ “กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าชุมชน โรงดรียนบ้านขาชะโงก” อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ให้ความใส่ใจ มุ่งมั่น เรียนรู้ตามวัยอย่างกระตืนรือร้น ตามรอยรุ่นพี่ที่ได้เริ่มต้นเอาไว้

“กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าชุมชน โรงเรียนบ้านเขาชะโงก” เริ่มก่อตั้งเกิดขึ้นในปี 2534 จากการรวมกลุ่มนักเรียนตัวเล็กทั้งชายและหญิงอายุ 11-13 ปี ภายในโรงเรียนบ้านเขาชะโงก ซึ่งมีชั้นสูงสุดเพียงชั้น ม.3 เพื่อร่วมกับชุมชน โดยมีผู้ใหญ่บ้านและครูเป็นแกนนำในการฟื้นฟูและรักษาป่าใกล้บ้าน ที่ในฤดูร้อนมักเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าใกล้เคียงและลุกลามมาถึงหลังคามุงแฝกหรือหญ้าคาของชาวบ้านอยู่เสมอ จนปัจจุบันนี้สามารถแก้ปัญหาไฟป่าได้ ไม่มีการลุกไหม้เพราะความแห้งแล้งมาหลายปีแล้ว และปลูกป่าเพิ่มขึ้นใหม่ใกล้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและเป็นไม้ใช้สอยได้อีกด้วย

เกือบ 20 ปี “กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าชุมชน โรงเรียนบ้านเขาชะโงก” ที่ได้ร่วมสืบสานปณิธานจากรุ่นสู่รุ่น ปรากฏเป็นวิถีชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมภายในหมู่บ้านขึ้นมาด้วย “พลังเยาวชน” ที่เปรียบดั่ง “เมล็ดพันธุ์” ที่พร้อมงอกเงยต่อไปเป็นอนาคตของชุมชน ของจังหวัด ของประเทศ บนการปลูกฝังอย่างมีจิตสำนึกในการหวงแหนและรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของธรรมชาติ

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

"ล้าง เลือก เลี่ยง" บริโภคผักปลอดสารพิษเพื่อชีวิตปลอดภัย

"ผัก" คือหนึ่งในอาหารหลัก 5 หมู่ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ให้วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และรักษาสมดุลของร่างกาย มีใยอาหารที่ช่วยเรื่องระบบการย่อยและขับถ่าย โดยเฉพาะ "ผักสด" คนไทยนิยมบริโภคกันมาก แต่ถ้าผักสดนั้นๆ ปนเปื้อนสารเคมี จากที่มีประโยชน์ก็จะกลายเป็นมีโทษต่อร่างกายทันที
ดังนั้นวิถีการบริโภคผักปลอดสารพิษจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เช่นการรณรงค์ของแผนงานผักปลอดภัยจากสารพิษ จ.ขอนแก่น โดย ผศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย ผู้จัดการแผนฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายของแผนฯ ก็คือทำให้เกิดการบริโภคผักที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอย่างทั่วถึงในจังหวัด ขอนแก่น อาจเป็นการยากเกินไปที่จะให้เป็นผักปลอดสารพิษ จึงมุ่นเน้นไปที่ผักปลอดภัยจากสารพิษ หมายความว่าอาจจะมีสารเคมีบ้างแต่ต้องไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย และร่างกายขจัดออกไปได้ เป็นผักที่เหมาะสำหรับการรับประทานไม่ทำให้เกิดโรค

" เป้าหมายคือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรผู้ปลูกผักภายในจังหวัดขอนแก่นให้ใช้วิธีที่ ปลอดภัย พื้นที่ต้นแบบในการเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกร ก็คือที่บ้านหัวนา อ.พล จ.ขอนแก่น จัดแบ่งพื้นที่ให้ครอบครัวละ 10x10 เมตร พื้นที่เล็กใหญ่ไม่สำคัญ สำคัญคือต้องเข้าใจธรรมชาติ เช่น หน้าฝน ปลูกผัก ไม่ได้ก็อย่าฝืน ให้เปลี่ยนมาเลี้ยงลูกอ๊อดเลี้ยงปลาแทน หากเข้าใจธรรมชาติ รู้จักปลูกพืชตามฤดูกาล ช่วงไหนควรปลูกคะน้าก็ปลูก ช่วงไหนควรปลูกผักหว่านก็ปลูก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี พืชผักก็ไม่มีปัญหา พึ่งพาตนเองได้แบบพอเพียง แต่ปัญหาที่สำคัญมากๆ อยู่ที่ผู้ประกอบการ เพราะทุกวันนี้ เรามักฝากท้องไว้กับร้านอาหารนอกบ้าน ผู้ประกอบการจึงควรมีจิตสำนึกที่จะดูแลชีวิตของผู้บริโภค ด้วย 3 หลักการคือ ล้าง เลือก และเลี่ยง"

"ล้าง" หมายถึง ล้างผักให้สะอาดอย่างถูกวิธี อย่างที่ ตลาดสดบางลำภู จ.ขอนแก่น จะมีอ่างล้างผักขนาดใหญ่ไว้ในตลาดเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดมาใช้ล้างผัก เป็นการปลูกจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการเห็นใจผู้บริโภค ร่วมรับผิดชอบชีวิตของผู้อื่นด้วยการล้างผัก

"เลือก" หมายถึง อบรมสร้างทางเลือกให้ผู้ประกอบการ เลือกชนิดของผักให้เหมาะสมตามฤดูกาล เช่นฤดูฝน คะน้าที่เห็นในท้องตลาด ส่วนใหญ่จะถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมี ดังนั้นถ้าขายราดหน้าทำไมต้องใช้แตผักคะน้า หน้าฝนเปลี่ยนเป็นผักกวางตุ้ง หรือผักหวานแทนได้ไหม? นี่คือทางเลือกใหม่ๆ เพื่อผู้บริโภค

"เลี่ยง" หมายถึง การเลี่ยงบริโภคผักที่อยู่นอกฤดูกาล เช่น ฤดูฝน เป็นไปไม่ได้ที่ผักกะหล่ำจะออก ถ้ามีแสดงว่า ต้องใช้สารเคมีอย่างดุเดือด ฉะนั้นในฐานะผู้บริโภคและผู้ประกอบการก็ควรหลีกเลี่ยง

ผู้บริโภคเองก็ควรรู้วิธีการล้างผักเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น ลอกหรือปอกเปลือกแล้วแช่น้ำสะอาด 5-10 นาที แล้วจึงล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง, แช่น้ำปูนใส นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด, แช่น้ำด่างทับทิม (20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร) นาน 10 นาที แล้วล้างอีกครั้งหนึ่ง ด้วยน้ำสะอาด, ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อก นาน 2 นาที, แช่น้ำซาวข้าว นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง, แช่น้ำส้มสายชูหรือเกลือป่น (ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 4 ลิตร) แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง, แช่ น้ำยาล้างผัก นาน 10 นาที แล้วล้างน้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยผศ.ดร.สุพัตรา แนะนำว่าวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการล้างผักด้วยน้ำธรรมดา แต่ต้องเป็นน้ำสะอาดโดยล้างเปลี่ยนน้ำทิ้ง 3 ครั้ง สะดวกง่ายและได้ผลเช่นกัน

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

ดาหลา : ไม้ดอกไม้ประดับ

ชื่อวิทยาศาสตร์: Etlingera elatior [Jack] R. M. Smith.

ชื่อสามัญ: Torch Ginger

ชื่อท้องถิ่น: กากลา กะลา

ลักษณะวิสัย: ไม้ล้มลุก

ลักษณะทั่วไป : ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ รูปขอบขนาน ปลายแหลมก้านใบยาว ดอกออกเป็นช่อแทงก้านดอกจากเหง้าใต้ดิน กลีบประดับ
ช้อนกันหลายชั้น ลดขนาดเล็กลงในวงชั้นใน สีชมพูถึงแดงเข้ม ออกดอกตลอดปี

ต้น : เป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายข่า มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า เหง้านี้จะเป็นบริเวณที่เกิดของหน่อดอกและหน่อต้น ตาหลา 1 ต้น สามารถให้หน่อใหม่ได้ประมาณ 7 หน่อ
ในเวลา 1 ปี ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบช้อนกันแน่น เช่นเดียวกับพวกกล้วย ส่วนนี้คือลำต้นเทียม ลำต้นเหนือดินสูง 2-3 เมตร มีสีเขียวเข้ม

ใบ : มีรูปร่างยาวรี กลางใบกว้างและค่อย ๆ เรียวไปหาปลายใบ และฐานใบไม่มีก้าน ใบผิวเกลี้ยงทั้งด้านบนและด้านล่าง ใบยาว 30 - 80 เซนติเมตร กว้าง 10 - 15
เซนติเมตร ปลายใบแหลม ฐานใบเรียว ลาดเข้าหาก้านใบ เส้นกลางใบปรากฏชัดทางด้านล่างของใบ

ดอก : ดอกดาหลาเป็นดอกช่อมีลักษณะดอกแบบ head ประกอบด้วยกลีบประดับ มี 2 ขนาด ส่วนโคนประกอบด้วยกลีบประดับขนาดใหญ่มีความกว้าง 2-3 เซนติเมตร จะมีสีแดงขลิบขาวเรียวซ้อนกันอยู่ และจะบานออก ประมาณ 25 -30 กลีบ กลีบประดับเล็กนี้จะหุบเล็กเรียงเป็นระดับมีประมาณ 300 - 330 กลีบ

ประโยชน์และสรรพคุณ : ดอก ดาหลามีรสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้ลมพิษ แก้โรคผิวหนัง ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เนื่องจากดอกดาหลามีกลิ่นหอมเฝื่อนๆ และอมเปรี้ยว จึงมักนิยมนำกลีบดอกไปยำ หรือจะนำดอกตูมและหน่ออ่อนต้มจิ้มน้ำพริก ใส่แกงเผ็ดก็ได้

การกระจายพันธุ์: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หมู่เกาะแปซิฟิก ขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

องุ่น : สำหรับผู้มีร่างกายอ่อนแอ

อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสมอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

มนุษย์รู้จักองุ่นมา เป็นเวลานานกว่า 5 พันปีมาแล้ว ถิ่นเดิมขององุ่นอยู่ที่ยุโรป และเอเชียตะวันตก องุ่นได้แพร่เข้าไปในประเทศจีน ในสมัยฮั่นตะวันตก (ค.ศ.206-24 ก่อนคริสต์ศักราช) โดยแพร่ไปจากประเทศรัสเซีย องุ่น เป็นผลไม้ที่ปลูกกันทั่วโลก ปัจจุบันมีเกินกว่า 8 พันชนิด ปีหนึ่งๆ ให้ผลผลิตเกินกว่าถึง 57,000 พันต้น นอกจากส่วนหนึ่งที่ได้รับประทานสดๆ แล้ว ผลผลิตประมาณ 80% ใช้ทำเหล้าและเครื่องดื่ม

องุ่น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Vitis vinifera Linn วงศ์ VITACEAE

สรรพคุณ
เนื้อองุ่น : มีรสหวาน-เปรี้ยว คุณสมบัติเป็นกลาง สรรพคุณ บำรุงเลือดและพลัง แก้ไอ แก้อาการปวดข้อ รักษาอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ ขับปัสสาวะ
รากต้นองุ่น : มีรสหวาน-ฝาด คุณสมบัติเป็นกลาง สรรพคุณ แก้อาการปวดข้อ ขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ

เถาและใบ : มีรสหวาน-ฝาด คุณสมบัติเป็นกลาง สรรพคุณ ขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ แก้ตาแดง เป็นฝี

ข้อควรระวัง ไม่ควรกินองุ่นมาก จะทำให้ร้อนใน (มีอาการคอแห้ง เจ็บคอ ไอ บางครั้งมีอาการท้องผูก) เปลือกองุ่นย่อยยาก ผู้ที่ระบบการย่อยไม่ดีหรือท้องอืดเป็นประจำ ไม่ควรกินองุ่น (ถ้าจะกินไม่ควรกินเปลือก)


วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2553

"เคี้ยวอาหาร" ช้าๆ สุขภาพดี-สมองแข็งแรง

เรื่องเล็กๆ ที่ผู้คนอาจมองข้ามอย่าง "การเคี้ยวอาหาร" กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ และส่งผลดีหลายประการต่อสุขภาพ ถ้าเคี้ยวให้ถูก-เคี้ยวให้เป็น... ไม่ใช่แค่เคี้ยวๆ กลืน! ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเว็บไซต์ส่งเสริมความรู้วิทยาศาสตร์ "วิชาการดอทคอม" รวบรวมผลการศึกษาทางแพทย์ ซึ่งยืนยันผลดีของการฝึกนิสัยเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนลงสู่กระเพาะ

"การเคี้ยวให้ช้าลง" ยังมีผลต่อการทำงานของสมองในหลายๆ ด้าน เนื่องจากไปช่วยกระตุ้นให้ "ต่อมน้ำลาย" และ "ต่อมใต้หู" หลั่งฮอร์โมนออกมา นอกจากนั้น ยังช่วยกระตุ้นพลังแห่งการขบคิดและสมาธิ ตรงข้ามกับผู้ที่เคี้ยวอาหารไม่ค่อยได้หรือเคี้ยวเร็วไป สมองก็จะอ่อนแอตามไปด้วย ผลที่ตามมาก็คือ สุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาว

โดยประโยชน์จากการเคี้ยวอาหารให้ช้าลง จะมีผลต่อดีสมองและร่างกาย ดังนี้
1. เคี้ยวอาหารประมาณ 30 ครั้งในแต่ละมื้อเป็นอย่างน้อย จะช่วยให้เหงือกแข็งแรงและช่วยรักษาอาการอารมณ์หงุดหงิด เครียด และโมโหง่าย

2. เคี้ยว 50 ครั้ง จะช่วยลดความวิตกกังวลของอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากินอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยลดความอ้วนได้ เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของน้ำที่มากเกินความจำเป็นดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

3. เคี้ยว 60 ครั้ง เหมาะสำหรับการเคี้ยวอาหารที่มีกากใยมากเกินไป ช่วยลดอาการท้องผูก การทำงานของสมอง ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. เคี้ยว 80 ครั้ง ช่วยให้ประสาทสัมผัสไวขึ้น มีความจำดีขึ้น สามารถจดจำและจำแนกรสชาติของอาหารทั้งจากธรรมชาติและสารปรุงอาหารที่มีพิษ ต่อร่างกายได้อย่างรวดเร็ว

5. เคี้ยว 100 ครั้ง ทำให้คุณจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สงบ เยือกเย็น กินน้อยลง แต่ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้มาก อีกทั้งช่วยลดการอยากอาหารประเภทเนื้อ

6. เคี้ยว 150 ครั้ง ระบบการทำงานกระเพาะและลำไส้ดีขึ้น และช่วยควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติ

7. เคี้ยว 200 ครั้ง ต่ออาหาร 1 คำได้ทุกมื้อ จะหายจากโรคกระเพาะเรื้อรัง และโรคกระเพาะอาหารเป็นแผลอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้สมองขบคิดกระบวนการคาดการณ์และวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ได้แม่นยำมากขึ้น

ฉะนั้น จึงไม่ควรมองข้ามสิ่งเล็กๆ อย่างการเคี้ยวอาหาร เพราะส่งผลดีต่อทั้งสมองและสุขภาพของคนเรา โดยไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไรเลย เพียงแค่เสียเวลาเคี้ยวเท่านั้นเอง

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

ทำไมคนเราต้องดื่มน้ำ

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมใคร ๆ ถึงคะยั้นคะยอให้คุณพยายามดื่มน้ำ (อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน) กันนัก เหตุผลก็เพราะ น้ำเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับชีวิต เซลล์ทุกเซลล์ล้วนมีน้ำเป็นส่วนประกอบ ถ้านับรวม ๆ แล้ว ในร่างกายมีน้ำอยู่ถึง 55-75 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักตัว ดังนั้นถ้าร่างกายขาดน้ำเพียงแค่ 10 วัน เราก็ตายแล้ว (ขณะที่คุณสามารถขาดอาหารได้ถึง 70 วัน) น้ำในร่างกายของเราส่วนใหญ่มาจากน้ำที่เราดื่ม รวมทั้งในอาหารที่เรากิน และเกิดจากกระบวนการเมตาโบลิซึ่มชึ่งทำงานอยู่ตลอดเวลา ประมาณ 2 ใน 3 ของน้ำในร่างกายจะอยู่ในเซลล์ และอีกหนึ่งส่วนที่เหลือจะอยู่ในเลือดและของเหลวต่างๆ

น้ำทำหน้าที่สำคัญ ๆ หลายอย่าง เช่น ช่วยย่อยและดูดซึมอาหารและของเสียไปตามกระแสเลือด ช่วยในการสร้างปฏิกิริยาทางเคมีของร่างกาย ช่วยหล่อลื่นและรองรับการเคลื่อนไหวของเอ็น ข้อต่อต่าง ๆ และช่วยรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ร่างกายของเราไม่เก็บกักน้ำเอาไว้ แต่ละวันจะมีการสูญเสียน้ำตลอดเวลา โดยการขับถ่ายทางปัสสาวะ อุจจาระ ทางผิวหนัง และทางปอด เฉลี่ยมีการสูญเสียน้ำประมาณ 2.65 ลิตรต่อวัน

เพราะเหตุนี้ คุณจึงควรได้รับน้ำทดแทนส่วนที่เสียไป อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 8 แก้วต่อวัน ปัญหาอยู่ที่ว่าคนส่วนใหญ่ดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะมักดื่มน้ำก็ต่อเมื่อรู้สึกกระหาย ความจริงแล้วเมื่อคุณกระหาย นั่นหมายถึงว่าร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำแล้ว สัญญาณและอาการของภาวะขาดน้ำคือ รู้สึกกระหาย ปัสสาวะน้อยลง และปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม (โดยทั่วไปปัสสาวะสีอ่อนจะดีกว่า) ท้องผูก เหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดหัว เวียนหัว หน้ามืดตาลาย เป็นตะคริว อุณหภูมิร่างกายสูง และความดันเลือดสูงขึ้น

เคล็ดลับง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คุณดื่มน้ำได้อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน คือ ดื่มทันทีหลังจากตื่นนอน ดื่มก่อนอาหาร (ช่วยไม่ให้กินมากเกินไปด้วย) ดื่มก่อนและหลังออกกำลัง ดื่มเมื่อรู้สึกอ่อนเพลีย ดื่มเมื่อปวดหัวหรือรู้สึกเป็นตะคริว ดื่มเมื่อปัสสาวะของคุณเป็นสีเข้ม จิบน้ำอยู่เรื่อย ๆ ตลอดวัน

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

วันขึ้นปีใหม่

ความหมาย
ความหมายของวันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชตบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า " ปี" ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตาม

ความเป็นมา
ในอดีตวันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน

การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆ มา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการจัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์ ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ

2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร

3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงาน