วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เตือนคนวัยทำงาน รับมือโรคออฟฟิศซินโดรม

หากชีวิตประจำวันของคุณต้องนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน และไม่มีการออกกำลังกายเป็นประจำ ถ้ามีอาการปวดร้าวตามแขน ขา บ่า ไหล่ ที่ไม่หายขาด ให้ตั้งข้อสมมุติฐานได้เลยว่าอาจเป็นสาเหตุของโรค "ออฟฟิศ ซินโดรม" ซึ่งมักเกิดกับคนทำงานออฟฟิศที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม หรือประเภทนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ไม่ได้ขยับออกไปไหนเป็นชั่วโมงๆ ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเมื่อยตามแขน ขา หลัง ไหล่ และที่น่าเป็นห่วงยิ่งนักคือ เจ้าโรคนี้จะทำให้เกิดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศตามมาอีกด้วย

นพ.ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการศูนย์รักษากระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยปัจจุบันมักพบคนวัยทำงาน ที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศอย่างขะมักเขม้น ไม่มีเวลาออกกำลังกาย และพักผ่อนน้อย มีอาการปวดร้าวไปตามแขน ขา ซึ่งเกิดจากปัญหาของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะปัญหาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อแบบ Office Syndrome มีอาการคล้ายกับกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งโรคกระดูกสันหลังที่สามารถกดทับเส้นประสาทที่พบบ่อยในคนทำงาน ได้แก่ โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้น (HNP) ช่องกระดูกเสื่อมตีบทับเส้นประสาท (Spinal Stenosis) กระดูกเสื่อมทับไขสันหลังส่วนคอ (CSM) หมอนรองกระดูกเอวเสื่อม (DDD) กระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนทับเส้น เป็นต้น

นพ.ทายาทกล่าวด้วยว่า ความผิดปกติอย่างหนึ่งของผู้มีกระดูกสันหลังเบียดทับเส้นประสาท นอกจากปัญหาปวดคอ ปวดหลังแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยอาจเกิดขึ้นจากความเจ็บปวดของเส้นประสาท ทำให้ความรู้สึกลดลง หรือระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ซึ่งอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่แฝงมากับโรคกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท มีทั้งไม่มีอารมณ์ทางเพศ นกเขาไม่ขัน หลั่งเร็วหรือหลั่งช้าผิดปกติ ฯลฯ เพราะกระดูกสันหลังเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆมากมาย รวมทั้งควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ความรู้สึกต่างๆในร่างกาย ดังนั้นถ้ามีการทำลายของการทำงานระบบไขสันหลัง หรือการรบกวนการทำงานของไขสันหลัง จึงส่งผลทำให้เกิดการอ่อนแรงของแขนขา หรือแม้แต่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้

ส่วนการรักษานั้นในทางการแพทย์แล้วมีทั้งการรักษาแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความเหมาะสมของผู้ป่วย ทางที่ดีถ้าสงสัยว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือหันมาใส่ใจและป้องกันไม่ให้เกิดโรคแต่เนิ่นๆ เช่น โต๊ะทำงานควรมีระดับพอดีกับข้อศอก จะได้กดคีย์บอร์ดถนัดๆ ตัวคีย์บอร์ดควรมีแป้นรองมือ เก้าอี้นั่งควรเป็นแบบที่ปรับขึ้นลงได้ และมีพนักพิงรองรับศีรษะ ที่สำคัญปรับนิสัยตัวเอง ถ้ารู้ว่านั่งหลังค่อม ก็ต้องนั่งหลังตรง หมั่นหยุดพักสายตา ลุกไปยืดเส้นยืดสายทุกๆครึ่งชั่วโมง เพื่อลดอาการตาแห้ง น้ำตาไหล เคืองตา ตามัว ปรับภาพได้ช้าลง ซึ่งเกิดจากการนั่งจ้องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น