วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เลือกที่นอนเหมาะกับวัย


การพักผ่อนที่ดีที่สุดก็คือ การนอนและสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เรานอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มอิ่ม สบายกายสบายตัว คงหนีไม่พ้นที่นอนที่สมส่วนและได้มาตรฐาน ถ้าที่นอนไม่ดี อาจทำให้การนอนพักผ่อนบนที่นอนที่อย่างน้อยก็คืนละไม่ต่ำกว่า 7-8 ชั่วโมงของเราไม่มีความสุข ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งกายและใจ เคล็ดลับสุขภาพดีอาทิตย์นี้ มีวิธีเลือกที่นอนให้หลับสบายส่งผลดีต่อสุขภาพมาฝากกันค่ะ

นพ.ยอดรัก ประเสริฐศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพให้ความรู้ว่า การเลือกที่นอนสำหรับเด็กจะเลือกที่นอนแบบใดก็ได้ เพราะกล้ามเนื้อยังแข็งแรงอยู่ส่วนวัยผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคกระดูก วิธีการเลือกอาจไม่แตกต่างกับวัยเด็กเท่าใดนัก แต่การเลือกที่นอนที่ถูกต้องก็คือ ไม่ควรเลือกที่นิ่มเกินไปและแข็งจนเกินไป ควรเลือกที่มีความแน่นกำลังดีนอนแล้วสบายตัวตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้สึกปวดเมื่อย

สำหรับในผู้สูงอายุต้องเน้นมากเป็นพิเศษ เพราะเวลาอายุมากขึ้นกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อมและยิ่งนอนที่นอนไม่ดี ก็จะยิ่งทำให้ปวดหลังมากขึ้น สมัยก่อนผู้สูงอายุมักบอกว่านอนที่นอนแข็งๆ แล้วหายปวดหลัง แต่อาจจะกลายเป็นว่า ไปปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อจุดอื่นๆ แทน สำหรับที่นอนที่นิ่มเกินไปนั้นก็มีผลเสียด้วยเช่นกัน เพราะเวลาเราพลิกตัวจะทำให้กล้ามเนื้อฝั่งตรงข้ามออกแรงต้านมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนักขึ้นและส่งผลทำให้มีอาการปวดหลัง
ส่วนวิธีการเลือกที่นอนอื่นๆ ที่ควรทราบก็เช่น ควรเลือกที่นอนที่มีขนาดใหญ่พอสมควรหากต้องนอนหลายคน เพราะถ้าที่นอนเล็กเกินไปอาจมีพื้นที่น้อยในการขยับตัว ทำให้เรานอนเกร็งและเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการปวดหลัง นอกจากนี้คุณหมอยังแนะนำถึงวิธีการใช้ที่นอนที่ถูกต้องว่าฟูกที่นอนที่คุณภาพดีๆ จะมีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี หลายคนมักเข้าใจผิดว่าสามารถใช้ได้ตลอด ที่สำคัญต้องรู้จักสังเกตว่าที่นอนยังอยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่ มีรอยบุบหรือแตกหรือเปล่า หากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นลองใช้มือลูบดูว่าที่นอนเป็นแอ่งหรือเปล่า หากเป็นแสดงว่าที่นอนเริ่มเสื่อมแล้วแต่วิธีการถนอม ที่นอนที่ดีควรกลับด้านทั้ง 4 ด้าน ประมาณ 6 เดือนครั้งและควรทำความสะอาดบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคที่อาจทำให้เราเจ็บป่วยหรือเป็นโรคภูมิแพ้ได้

อย่างไรก็ตามถ้าเราเลือกที่นอนไม่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายแล้วจะมีผลกระทบคือ จากการที่กระดูกไม่ดีอยู่แล้วก็จะยิ่งเป็นการ เร่งให้กระดูกเสื่อมเร็วขึ้น กล้ามเนื้อมีอาการบาดเจ็บมากขึ้น มีอาการปวดหลังเรื้อรัง นอนหลับไม่สบายจนกระทั่งทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงตามลำดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น