วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หัวผักกาดขาว: อาหารช่วยย่อยที่ดี

อาหารสมุนไพร ที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป จีนเป็นแหล่งกำเนิด แห่งหนึ่งของหัวผักกาดขาว และเป็นอาหารที่สำคัญชนิดหนึ่งของชาวจีน ชาวจีนได้รู้จักหัวผักกาดขาวมาเป็นเวลากว่า 2,000 ปีแล้ว ดังบันทึกไว้ในหนังสือเอ๋อหย่า ซือจิง และ เซินหนง เปิ่นฉ่าวจิง (ตำรายา)

สรรพคุณ
หัวผักกาดขาว : มีรสเผ็ดหวาน คุณสมบัติเย็น (เป็นยิน) ช่วยย่อย แก้ไอมีเสมหะ ไม่มีเสียง อาเจียนเป็นโลหิต ท้องเสีย

เมล็ด : มีรสเผ็ดหวาน คุณสมบัติเป็นกลาง แก้ไอมีเสมหะ และหืด ช่วยให้ย่อย ท้องเสีย

ใบ : มีรสเผ็ดขม คุณสมบัติเป็นกลาง ช่วยย่อย เจ็บคอ ท้องเสีย ขับน้ำนม

ตำรับยา
1. อาการเรอเปรี้ยว : หั่นหัวผักกาดขาวดิบ 3-4 แว่นเคี้ยวกิน

2. เสียงแห้งไม่มีเสียง : คั้นน้ำหัวผักกาดขาว แล้วเติมน้ำขิงเล็กน้อยดื่ม

3. ไฟไหม้น้ำร้อนลวกหรือโดนสะเก็ดไฟ : ตำหัวผักกาดขาวให้แหลกแล้วพอกบริเวณที่เป็น หรือจะใช้เมล็ดทำให้แหลกแล้วพอกก็ได้

4. ฟกช้ำดำเขียว (ไม่เป็นแผล) : ใช้หัวหรือใบดำให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่เป็น หรือใช้เมล็ด 60 กรัม ตำให้ละเอียด คลุกกับเหล้า (อุ่นให้ร้อน) พอกบริเวณที่เป็น
5. แผลในปาก : คั้นน้ำหัวผักกาดขาวแล้วใช้บ้วนปากบ่อยๆ

6. หวัด : ต้มหัวผักกาดขาวดื่มน้ำ

7. ไอ : หัวผักกาดขาวพอประมาณใส่ขิงและน้ำผึ้งเล็กน้อยต้มดื่มน้ำ

ข้อควรระวัง
ผู้ที่มีอาการม้ามบกพร่อง คือ มีอาการท้องอืด แน่น เป็นประจำ กินอาหารแล้วไม่ค่อยย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ไม่ควรกิน แต่ถ้ามีอาการท้องอืด แน่น ชั่วคราวเนื่องจากกินอาหารที่ย่อยยาก หรือกินมากเกินไป หัวผักกาดขาวมี Mustard oil ซึ่งมีรสเผ็ด เมื่อสารนี้รวมกับเอนไซม์ในหัวผักกาดขาว มีฤทธิ์กระตุ้นให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหว ทำให้กินอาหารได้มากขึ้น และยังช่วยย่อยอาหารอีกด้วย ดังนั้นหลังกินอาหารจำพวกเนื้อหรือของมันๆ ควรกินหัวผักกาดขาวสักเล็กน้อย

เนื่องจาก Amylase ในหัวผักกาดขาวไม่ทนต่อความร้อน จะถูกทำลาย ณ อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นอกจากนี้วิตามินซีก็ไม่ทนต่อความร้อนสูง ดังนั้นจึงควรกินหัวผักกาดขาวดิบๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น